เทคนิคเลือกแบบการมุงหลังคา กระเบื้องและเฉดสีให้เข้ากับบ้าน

Akharapon T. Akharapon T.
HultaHaus Ball, BayernBlock Holzbau GmbH & Co. KG - HultaHaus BayernBlock Holzbau GmbH & Co. KG - HultaHaus Houses
Loading admin actions …

หลายครั้งหลายคราที่เราจะรู้สึกอยากเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปของรูปลักษณ์และองค์ประกอบต่างๆของบ้าน ในที่นี้หมายถึงการเป็นคนได้กำหนดหรือเลือกสรรรูปแบบด้วยตนเองมากกว่าการแค่บอกถึงสไตล์ที่ชื่นชอบและรสนิยมของเราให้นักออกแบบหรือสถาปนิกทำตามที่เราร้องขอไป แต่จะทำอย่างไรหากยังไม่มีไอเดียหรือตัวอย่างที่สวยตรงใจและอยากทำตามซึ่งยังหาไม่ได้สักที บอกเลยว่าไม่ต้องเป็นกังวล เพราะวันนี้ Homify ได้หยิบยกมาให้คุณชมกันอย่างจุใจ! ซึ่งในวันนี้นั้นจะเป็นไอเดียและเทคนิคการเลือกแบบการมุงหลังคา กระเบื้องและเฉดสีเพื่อให้เข้ากับตัวบ้านและสวยได้ตรงใจอย่างที่คุณอยากจะเห็น โดยที่แตละแบบนั้นมีความพิเศษและมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำกันสักแบบเลย เรียกได้ว่าต้องมีบ้างที่คุณชื่นชอบและอยากที่จะนำไปเป็นตัวอย่างไอเดียสำหรับบ้านคุณเอง จะมีแบบไหนสวยบ้างนั้น ไปดูกันเลย

1. บ้านไม้โทนสีสว่างอบอุ่นพร้อมบริเวณบ้านกว้างขวาง

บ้านไม้หลังนี้เป็นบ้านที่ออกแบบก่อสร้างด้วยวัสดุไม้ในแทบทุกส่วน ความโดดเด่นของรูปลักษณืที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่ใต้ถุนและชานบ้านที่เชื่อมขึ้นไปยังระเบียงชั้นสอง ด้วยวัสดุไม้ธรรมชาติสีเหลืองอ่อนทั้งหมดนี้เป็นผลให้การเลือกสีกระเบื้องต้องมีการคุมโทนสีให้ไปในทางเดียวกัน กระเบื้องเซรามิคแผ่นแบนจึงเป็นทางเลือกของนักออกแบบที่ต้องการใช้สีน้ำตาลของดินเผาช่วยขับให้สีเหลืองอ่อนของไม้มีความเด่นชัดขึ้น

2. บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนผสานความโมเดิร์นด้วยกระเบื้องหลังคาสีเทาเข้ม

บ้านหลังนี้เป็นบ้านสองชั้นที่ก่อสร้างในรูปทรงตามแบบแผนสมัยนิยม ด้วยตัวบ้านทรงกล่องและหลังคาทรงจั่วซึ่งเรียบง่ายตรงไปตรงมา ตัวบ้านมีการใช้วัสดุเป็นการก่ออิฐฉาบปูนสีขาวและใช้ผนังไม้ ส่วนของหลังคาจึงต้องมีการคุมบรรยากาศให้บ้านดูกลมกลืนด้วยการเลือกใช้กระเบื้องเซรามิคสีเทาเข้มซึ่งให้รูปลักษณ์ที่โมเดิร์นทันสมัยและสามารถผสานความหลากหลายของวัสดุที่ใช้กับตัวบ้านได้อย่างลงตัว

3. บ้านหลังคาทรงปั้นหยาสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน

บ้านหลังแรกนี้เป็นบ้านสองชั้นรูปทรงคลาสสิคย้อนสมัย โดยมีรูปลักษณ์การออกแบบที่โดดเด่นด้วยผนังหินรอบตัวบ้าน กรอบช่องเปิดสีขาวและหลังคาทรงปั้นหยาที่ลดหลั่นตามระดับชั้นของบ้าน การเลือกใช้กระเบื้องหลังคาจึงต้องเน้นการคุมบรรยากาศและโทนสีให้ดูอบอุ่นเป็นธรรมชาติด้วยกระเบื้องลอนดินเผาสีน้ำตาลแดงซึ่งเป็นสีธรรมชาติของวัสดุ ดูแล้วมีความกลมกลืนและให้บรรยากาศบ้านคลาสสิคได้อย่างดี

4.บ้านสองชั้นครึ่งรูปทรงหลังคาจั่วสไตล์บ้านคันทรี่

บ้านหลังที่สี่ที่เราจะพามาชมกันเป็นบ้านสูงสองชั้นพร้อมพื้นที่ห้องใต้หลังคา รูปทรงของบ้านเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นบ้านที่มีรูปทรงแบบย้อนสมัย ด้วยหลังคาทรงจั่วขนาดใหญ่ที่ปกคลุมตัวบ้านทั้งหลัง การออกแบบตกแต่งมีการใช้ผนังสีเหลืองอ่อนซึ่งเป็นโทนสีที่ตัดกับสีน้ำตาลของโครงสร้างไม้ ดังนั้นการเลือกใช้สีหลังคาให้ดูสวยจึงควรใช้สีเข้มที่ดูตัดกันซึ่งก็คือกระเบื้องเซรามิคสีน้ำตาลเข้ม ดูแล้วมีความเรียบง่ายดูดีตามแบบบ้านคันทรี่สุดๆ

5. บ้านไม้ขนาดกะทัดรัดดูเรียบง่ายสไตล์บ้านกระท่อม

คงไม่ต้องอธิบายให้มากความกับรูปลักษณ์การออกแบบของบ้านหลังนี้ซึ่งมาในรูปแบบของกระท่อมไม้สไตล์โมเดิร์นประยุกต์ โดยตัวบ้านเป็นบ้านสองชั้นพร้อมหลังคาทรงจั่วก่อสร้างโดยใช้ไม้ท่อนซุงประกอบเป็นผนัง ซึ่งวัสดุไม้นี้มีสีเหลืองธรรมชาติตามเนื้อไม้ ส่วนของกระเบื้องหลังคาจึงเลือกใช้กระเบื้องเซรามิคสีน้ำตาลเทาซึ่งทำให้บ้านแลดูโดดเด่นและดูมีมิติมากกว่าการใช้กระเบื้องสีอ่อนเช่นเดียวกับสีของผนังบ้าน

6. บ้านไม้ที่ผสมผสานกลิ่นอายความโมเดิร์นและบรรยากาศแบบบ้านคันทรี่

บ้านไม้หลังงามหลังนี้ดูจากรูปลักษณืภายนอกจะเห็นได้ว่าเป็นบ้านที่มีรูปทรงและสไตล์การออกแบบที่เห็นได้ชัดถึงความเป็นบ้านคันทรี่โฮม ด้วยหลังคาทรงจั่วและวัสดุไม้ที่ใช้ และเช่นเคยที่วัสดุกระเบื้องหลังคาก็ต้องมีการคุมภาพลักษณ์ให้ดูอบอุ่นเรียบง่าย ด้วยการเลือกใช้กระเบื้องเซรามิคลอนคู่สีน้ำตาลธรรมชาติเป็นโทนสีซึ่งอยู่ในโทนเดียวกันกับสีของผนังไม้ ทั้งนี้ยังมีการออกแบบประตูเหล็กสีดำและภูมิทัศน์ภายนอกด้วยทางเดินกรวดสีเทาที่ทำให้บ้านดูมีความโมเดิร์นอยู่กลายๆ

7. กระเบื้องลอนต่ำกับหลังคาอะคริลิคโปร่งแสงก็สามารถจับมาเข้าคู่กันได้

แบบหลังคาที่เห็นอยู่นี้เป็นส่วนของหลังคาโรงเก็บของหรือโรงจอดรถนอกตัวบ้าน ซึ่งเป็นอาคารขนาดเตี้ยสูงเพียงหนึ่งชั้นและก่อสร้างด้วยไม้ การเลือกใช้กระเบื้องหลังคาจึงมีการเลือกเป็นกระเบื้องลอนต่ำโทนสีเทาเข้มซึ่งให้ภาพลักษณ์อาคารที่ดูพื้นถิ่น ทั้งนี้ยังมีการใช้วัสดุหลังคาอะคริลิคซึ่งเป็นวัสดุโปร่งแสงสามารถให้แสงส่องผ่านลงมาได้ ทำให้พื้นที่ได้ล่างไม่อับทึบและยังเป็นแนวทางการออกแบบหลังคาที่ผสานวัสดุแบบใหม่เข้ากับอาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างดี ทั้งนี้สามารถปรึกษากับช่างมุงหลังคาสำหรับการหาซื้อวัสดุและการติดตั้งได้เลย

8. บ้านไม้สีเข้มจับคู่กระเบื้องหลังคาสีเทาอ่อน ดิบเท่อย่างมีราคา

จากลักษณะภายนอกของบ้านหลังนี้คุณจะเห็นได้ทันทีเลยว่ามีความเรียบเท่ของรายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบรูปทรงที่ชัดเจนไม่หวือหวาหรือแหวกแนวไปจากแบบบ้านคันทรี่ทั่วไป ไปจนถึงโทนสีที่เลือกใช้กับวัสดุส่วนต่างๆ ทั้งตัวเสาไม้สีธรรมชาติซึ่งตัดกันกับสีเทาดำของผนัง และส่วนหลังคาที่เลือกใช้กระเบื้องลอนเรียบสีเทาอ่อนก็ยิ่งทำให้บ้านแลดูสะอาดเนี้ยบและดูมีราคาอย่างเห็นได้ชัด

9. บ้านไม้และกระเบื้องสีเทา อบอุ่นดูเป็นธรรมชาติ

นี่เป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่มีรูปลักษณ์ซึ่งออกแบบมาในสไตล์บ้านคันทรี่ ซึ่งมีการเน้นที่การใช้วัสดุพื้นถิ่นเป็นหลักทั้งไม้ อิฐและกระเบื้อง โดยมีโทนสีของผนังบ้านเป็นสีน้ำตาลของไม้ธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น การเลือกใช้กระเบื้องมุงหลังคาจึงมีการเลือกใช้กระเบื้องลอนคู่เซรามิคสีเทาซึ่งเป็นโทนสีที่ต่างจากสีของบ้านทำให้เกิดความชัดเจนขององค์ประกอบ และในขณะเดียวกันก็ยังดูเรียบขรึมไม่ได้ใช้สีที่แหวกแนวตัดกันจนเกินไป

10. บ้านสีอ่อนกับหลังคาสีกุหลาบ นิ่มนวลและดูน่ารักอบอุ่น

สำหรับใครก็ตามที่ชื่นชอบสีสันออกหวานๆที่แลดูสดใสไม่อึมครึมหรือดูเข้มเกินไปนั้น สำหรับบ้านผนังสีขาวนั้นกระเบื้องมุงหลังคาสีชมพูกุหลาบหรือสีส้มอ่อนๆดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะโทนสีของผนังบ้านจะช่วยขับให้สีชมพูกุหลายของหลังคาแลดูสว่างและมีสีสันที่ชัดเจนสดใสมากขึ้น ซึ่งอาจลองเลือกใช้สีพาสเทลจางๆสีอื่นๆดูก็จะให้อารมณ์และความสดใสที่แตกต่างกันไปด้วย

11. มุงด้วยกระเบื้องเกล็ดปลา เพื่อเส้นสายลายโค้งที่ดูน่าสนใจ

แบบกระเบื้องและโทนสีแบบสุดท้ายคือกระเบื้องหลังคาหางมนหรือกระเบื้องเกล็ดปลา ซึ่งเป็นกระเบื้องที่น่าจะคุ้นตาใครๆหลายๆคนเพราะเป็นกระเบื้องที่มีรูปลักษณ์และเส้นสายที่ดูคลาสสิคทำให้นึกย้อนไปถึงอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ในที่นี้ได้ถูกนำมาปรับแปลงด้วยโทนสีเทาซึ่งเป็นโทนสีแบบบ้านโมเดิร์น ดูแล้วมีความอ่อนช้อยจากเส้นสายโค้งมนและโทนสีที่ดูเรียบเท่ แถมการใช้กระเบื้องสีเข้มๆแบบนี้ยังมีข้อดีที่สามารถกลบหรือพรางรอยด่างพร้อยจากคราบสกปรกบนผิวกระเบื้องเมื่อผ่านไปนานๆได้ด้วย

Need help with your home project?
Get in touch!

Highlights from our magazine